อลังการมหรสพสมโภช 7 วัน ทั่วประเทศ มหามงคลเถลิงราชสมบัติ รัชกาลที่ 10

โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์12 พ.ค. 2562 05:01 น.

นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ที่ต้องจดจารึกไว้ในแผ่นดินไทยอีกครั้ง สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่นำความสุขความปลื้มปีติมาสู่พสกนิกรชาวไทย โดยตลอดปีมหามงคล 2562 ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติอย่างคึกคักต่อเนื่อง หนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์คือ การจัดงานมหรสพสมโภช เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมกันทั่วประเทศ ตลอด 7 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค.2562 ตั้งแต่เวลา 17.00-23.00 น. โดยกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงมหาดไทยรับเป็นพ่องานใหญ่

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ใช้ท้องสนามหลวงเป็นพื้นที่หลักในการจัดงานมหรสพสมโภชตลอด 7 วันเต็ม โดยเนรมิตเวทีกลางตั้งตระหง่านทางฝั่งทิศใต้ของสนามหลวง มีฉากหลังเป็นพระบรมมหาราชวังอันงดงามวิจิตรตระการตา เสริมทัพด้วยเวทีย่อยฝั่งศาลฎีกา และฝั่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ สำหรับการแสดงพื้นบ้าน ที่เหล่าศิลปินจากหลากหลายสาขา พร้อมใจกันจัดเตรียมการแสดงชั้นยอดมาร่วมเฉลิมพระเกียรติ พลาดไม่ได้เลยยังรวมถึง การแสดงไฟประดับประกอบแสงสีเสียงสุดอลังการ ชุด “แสงแห่งพระมหากรุณาธิคุณ” ซึ่งจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ต่อเนื่องตลอด 7 วันเต็ม เช่นเดียวกับ การแสดงหน้าเวทีกลางของเหล่าวงโยธวาทิตแชมป์ระดับประเทศ ที่ตบเท้ากันมาสร้างสีสันทุกวัน เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคล นำขบวนโดย วงโยธวาทิต โรงเรียนวัดสุทธิวราราม, วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา, วัดราชบพิธ และมาร์ชชิ่งแบนด์ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

ประเดิมวันแรกด้วยพิธีเปิดงานยิ่งใหญ่ที่เวทีกลาง พร้อมชม การรำถวายพระพร “อศิรวาททวยราษฎร์น้อมจอมราชัน” และ การแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุด “พระบารมีมิ่งฟ้ารามาวตาร” ส่วนเวทีย่อยฝั่งศาลฎีกาเตรียมการแสดง “หุ่นละครเล็ก โจหลุยส์” ไว้ต้อนรับประชาชน

สำหรับการแสดงโขนรามเกียรติ์ในครั้งนี้ เป็นการรวบรวมโขนจากคณะต่างๆที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ นำมาแสดงด้วยกัน นำขบวนโดย โขนมูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง จัดแสดงตอน “สถลมารครามราชจักรี” คือตอนพระรามจองถนนข้ามไปกรุงลงกา ส่วนโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ร่วมเฉลิมพระเกียรติในตอน “ปราบเล่ห์อสุรีลงกา” คือเมื่อพระรามข้ามสมุทรมาทำสงครามแล้ว ทศกัณฐ์ใช้เล่ห์อุบายต่างๆเพื่อทำลายกองทัพพระราม โดยให้ “อินทรชิต” ราชโอรสยกกองทัพแปลงเป็นพระอินทร์มาออกรบ แต่พระรามก็แก้ไขและปราบเล่ห์อสุรีลงกาได้

ด้านคณะโขนสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จัดแสดงตอน “บรมราชาภิเษกพระราม” จับตอนต่อเนื่องเมื่อพระรามปราบเล่ห์กลได้แล้ว ทศกัณฐ์พาสิบขุนสิบรถออกรบ แต่พ่ายแพ้บารมีพระราม พระรามจึงรับนางสีดากลับไปครองกรุงศรีอยุธยา พร้อมจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชพระรามอย่างยิ่งใหญ่ตามโบราณราชประเพณี มีการแสดงการละเล่นในพระราชพิธี และเหล่าเทวดานางฟ้ามารำถวายพระพร อย่างงดงาม

จากนั้นในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.2562 บริเวณเวทีกลาง จัดแสดงดนตรีสากลชุด “มหาดุริยางค์สากลรวมใจภักดิ์” เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ ส่วนที่เวทีย่อยฝั่งศาลฎีกา เตรียมการแสดงพื้นบ้านหาชมยาก เช่น โขนสด และกระตั้วแทงเสือ ไว้สร้างความสุนทรีย์ เสริมทัพความคึกคักด้วยการแสดงหนังใหญ่วัดขนอนที่เวทีฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับวันศุกร์ที่ 24 พ.ค. 2562 ท้องสนามหลวงจะกระหึ่มไปด้วย มหกรรม “ลูกทุ่งไทยเทิดไท้องค์ราชา มหาวชิราลงกรณ” ขณะที่เวทีย่อยเตรียมการแสดงละครชาตรี, หุ่นพื้นบ้านร่วมสมัย และหุ่นกระบอก จากคณะบ้านตุ๊กตุ่น ไว้รอต้อนรับ

ส่วนวันเสาร์ที่ 25 พ.ค.2562 ถึงคิวของ การแสดงดนตรีไทยชุด “มหาดุริยางค์ไทยแห่งรัตนโกสินทร์” พร้อมด้วยนาฏศิลป์และดนตรีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งรำมอญ, ลาวโซ่ง และกะเหรี่ยงโป งานนี้ยังมีหนังตะลุงประโมทัยตำรับอีสาน และหุ่นหลวง คณะไก่แก้ว ให้ชื่นชม

อีกหนึ่งไฮไลต์เป็นที่กล่าวขานถึงและเฝ้ารอชมคือ ละครเพลงในสวนฝัน ชุด “ผสานใจภักดิ์ ถวายองค์ราชัน” จากบทประพันธ์ของ “ประภัสสร เสวิกุล” กำกับโดยศิลปินแห่งชาติ “สุประวัติ ปัทมสูต” พร้อมจัดแสดงที่เวทีกลางในช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 26 พ.ค.2562 ถือเป็นการรวมพลังแสดงความจงรักภักดีของศิลปินและนักแสดงมากฝีมือชั้นแนวหน้าของประเทศ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ นำทีมโดย สุเทพ วงศ์กำแหง, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี, สินจัย เปล่งพานิช และธงไชย แมคอินไตย์ เสริมทัพด้วยนักแสดงรุ่นใหม่อย่าง โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ, เบลล่า-ราณี แคมเปน, หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ, กบ-ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี, สุชาติ ชวางกูร, รัดเกล้า อามระดิษ, วสุ แสงสิงแก้ว และจ๊ะจ๋า-พริมรตา เดชอุดม โดยนักแสดงทุกคนต่างทุ่มฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ และรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันว่าการได้ร่วมแสดงละครเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ ถือเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต

ขณะที่ในวันจันทร์ที่ 27 พ.ค.2562 กระทรวงวัฒนธรรมจัดเตรียม มหกรรมการแสดงนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ และ การแสดงชุด “นาฏศิลป์ร่วมสมัยรวม ใจภักดิ์” ไว้ต้อนรับผู้มาเยือน เสริมทัพด้วยการแสดงโขนจากมูลนิธิคึกฤทธิ์, หนังตะลุงภาคใต้ และหุ่นกระบอกคุณรัตน์

ปิดท้ายงานมหรสพสมโภชด้วยขบวนอัญเชิญเครื่องราชสักการะจาก 4 ภาค, การแสดงพื้นบ้าน 4 ภาค และมหกรรมกลองมิ่งมงคลเฉลิมพระเกียรติ ส่วนเวทีย่อยก็มีมหกรรมเพลงพื้นบ้าน, ลำตัด-เพลงฉ่อย-อีแซว-เพลงทรงเครื่อง และหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ คอยสร้างความประทับใจมิรู้ลืมเลือน

ขาดไม่ได้คือ “ตลาดวัฒนธรรม” ที่จัดเตรียมขนมและอาหารไทยตำรับโบราณหาทานยาก ไว้ให้ประชาชนได้เลือกชิม พร้อมชมการสาธิตวิธีทำอย่างใกล้ชิด

นับเป็นปีมหามงคลอย่างแท้จริง ที่สร้างความปลื้มปีติไปทั่วทั้งแผ่นดินไทย.